กฎ กติกา

กติกาเทเบิลเทนนิส

1.โต๊ะเทเบิลเทนนิส (THE TABLE)

                1.1 พื้นหน้าด้านบนของโต๊ะเรียกว่า “พื้นผิวโต๊ะ” (PLAYING SURFACE)  จะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า  มีความยาว 2.74  เมตร  (9 ฟุต)  ความกว้าง 1.525 เมตร  5 ฟุต และจะต้องสูงได้ระดับ  โดยวัดจากพื้นที่ตั้งขึ้นมาถึงพื้นที่ผิวโต๊ะ  สูง 76  เซนติเมตร  (2  ฟุต 6 นิ้ว)

1.2  พื้นผิวโต๊ะ  ไม่รวมถึงด้านข้างตามแนวตั้งที่อยู่ต่ำกว่าขอบบนสุดของโต๊ะลงมา

1.3  พื้นผิวโต๊ะอาจทำด้วยวัสดุใด ๆ ก็ได้  แต่จะต้องมีความกระดอนสม่ำเสมอเมื่อเอาลูก เทเบิลเทนนิสมาตรฐานปล่อยลงในระยะสูง  30 เซนติเมตร  โดยวัดจากพื้นผิวโต๊ะลูกกระดอนขึ้นมาประมาณ   23  เซนติเมตร

1.4  พื้นผิวโต๊ะจะต้องเป็นสีเข้มสม่ำเสมอและเป็นด้านไม่สะท้อนแสง  ขอบด้านบนของผิวโต๊ะทั้ง  4 ด้าน  จะทาด้วยสีขาว  มีขนาดกว้าง  2 เซนติเมตร  เส้นของพื้นผิวโต๊ะด้านยาว 2.74 เมตร  ทั้งสองด้านเรียกว่า “เส้นข้าง”  (SIDE  LINE)  เส้นของพื้นผิวโต๊ะด้านกว้าง 1.525  เมตร  ทั้งสองด้านเรียกว่า “เส้นสกัด”  (   END LINE)

1.5   พื้นผิวโต๊ะจะถูกแบ่งออกเป็นสองแดน (COURTS) เท่า ๆ กัน  กั้นด้วยตาข่ายซึ่งขึงตั้งฉากกับพื้นผิวโต๊ะ และขนานกับเส้นสกัดโดยตลอด

1.6  สำหรับประเทศคู่  ในแต่ละจะถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนเท่า ๆ กัน  ด้วยเส้นสีขาวมีขนาดกว้าง  3 มิลลิเมตร  โดยขีดขนานกับเส้นข้างเรียกว่า “เส้นกลาง”  (CENTER LINE)  และให้ถือว่าเส้นกลางนี้เป็นส่วนหนึ่งของคอร์ดด้านขวาของโต๊ะด้วย

1.7  ในการแข่งขันระดับมาตรฐานสากล  โต๊ะเทเบิลเทนนิสที่ใช้สำหรับการแข่งขันจะต้องเป็นยี่ห้อและชนิดที่ได้รับการรับรองสหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติ (ITTF)  เท่านั้น  โดยโต๊ะเทเบิลเทนนิสจะมีสีเขียวหรือสีน้ำเงิน  และในการแข่งขันทุกครั้ง

2.ส่วนประกอบของตาข่าย (THE NET  ASSEMBLY)

                2.1 ส่วนประกอบของตาข่ายจะประกอบด้วย ตาข่าย ที่แขวน และเสาตั้ง  รวมไปถึงที่จับยึดกับโต๊ะเทเบิลเทนนิส

2.2  ตาข่ายจะต้องขึงตึงและยึดด้วยเชือกซึ่งผูกติดปลายยอดเสาซึ่งตั้งตรงจากพื้นผิวโต๊ะ 15.25  เซนติเมตร (6 นิ้ว)

2.3  ส่วนบนสุดของตาข่ายตลอดแนวยาวจะต้องสูงอยู่ชิดกับพื้นผิวโต๊ะให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้  และส่วนปลายสุดของตาข่ายทั้งสองด้านจะต้องอยู่ชิดกับเสาให้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

2.5  ในการแข่งขันระดับมาตรฐานสากล   ตาข่ายที่ใช้สำหรับแข่งขันจะต้องเป็นยี่ห้อและชนิดที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติ  (ITTF)

3. ลูกเทเบิลเทนนิส (THE BALL)

                3.1  ลูกเทเบิลเทนนิส จะต้องกลมและมีเส้นผ่าศูนย์กลาง  40 มิลลิเมตร

3.2  ลูกเทเบิลเทนนิส จะต้องมีน้ำหนัก 2.7 กรัม

3.3  ลูกเทเบิลเทนนิส จะต้องทำด้วยเซลลูลอยด์หรือวัสดุพลาสติกอื่นใดที่คล้ายคลึงกัน  มีสีขาว  หรือสีส้ม  และเป็นสีด้าน

3.4  ลูกเทเบิลเทนนิส จะต้องเป็นยี่ห้อและชนิดที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติ (ITTF)  เท่านั้น  และจะต้องระบุสีของลูกที่ใช้แข่งขันลงในระเบียบการแข่งขันทุกครั้ง

4. ไม้เทเบิลเทนนิส  (THE RACKET)

                4.1  ไม้เทเบิลเทนนิสจะมีรูปร่าง ขนาดหรือหนักอย่างไรก็ได้  แต่หน้าไม้จะต้องแบนเรียบและแข็ง

4.2  อย่างน้อยที่สุด 85%  ของความหนาของไม้  จะต้องทำด้วยไม้ธรรมชาติ  ชั้นที่อัดอยู่ภายในหน้าไม้  ซึ่งทำด้วยวัสดุอื่นใด เช่น คาร์บอนไฟเบอร์   กลาสไฟเบอร์  หรือกระดาษอัดจะต้องมีความหนาไม่เกิน  7.5%            ของความหนาทั้งหมดของไม้  หรือไม่เกิน 0.35  มิลลิเมตร  สุดแท้แต่กรณีใดจะมีค่าน้อยกว่า

4.3 หน้าไม้เทเบิลเทนนิสด้านที่ใช้ตีลูกจะต้องมีวัสดุปิดทับวัสดุนั้นจะเป็นแผ่นยางเม็ดธรรมดา   แผ่นยางชนิดนี้  เมื่อปิดทับหน้าไม้และรวมกับกาวแล้วจะต้องมีความหนาทั้งสิ้นไม่เกิน 2 มิลลิเมตร  หรือแผ่นยางชนิดสอดไส้  แผ่นยางชนิดนี้เมื่อปิดทับหน้าไม้และรวมกับกาวแล้วจะต้องมีความหนาทั้งสิ้นไม่เกิน  4   มิลลิเมตร  ทั้งนี้ความสูงของเม็ดยางจะเท่ากับความกว้างของเม็ดยางในอัตราส่วน  1:1

4.3.1แผ่นยางเม็ดธรรมดา  (ORDINARY  PIMPLED RUBBER)  จะต้องเป็นแผ่นยางชิ้นเดียวและไม่มีฟองน้ำรองรับโดยหันเอาเม็ดยางออกมาด้านนอก  จะทำด้วยยางธรรมชาติหรือยางสังเคราะห์  มีเม็ดยางกระจายสม่ำเสมอไม่น้อยกว่า 10 เม็ดต่อ 1  ตารางเซนติเมตร  และไม่มากกว่า  30  เม็ดต่อ  1  ตารางเซนติเมตร

4.3.2 แผ่นยางชนิดสอดไส้ (SANDWICH  RUBBER)  ) ประกอบด้วยฟองน้ำชิ้นเดียวปิดคลุมด้วยแผ่นยางธรรมดาชิ้นเดียว  โดยจะหันเอาเม็ดยางอยู่ด้านในหรือด้านนอกได้  ซึ่งความหนาของแผ่นยางธรรมดานี้จะต้องมีความหนาไม่เกิน  2 มิลลิเมตร

4.4 วัสดุปิดทับหน้าไม้จะต้องปิดคลุมหน้าไม้ด้านนั้น ๆ และจะต้องไม่เกินขอบหน้าไม้หุ้มด้วยวัสดุใด ๆ ก็ได้

4.5  หน้าไม้เทเบิลเทนนิส  ชั้นภายในหน้าไม้และชั้นของวัสดุปิดทับต่าง ๆ  หรือกาว จะต้องสม่ำเสมอและมีความหนาเท่ากันตลอด

4.6  หน้าไม้เทเบิลเทนนิส   ด้านหนึ่งจะต้องเป็นสีแดงสว่าง  (BRIGHT  RED) และอีกด้านหนึ่งจะต้องเป็นสีดำ  (BLACK)  และจะต้องมีสีกลมกลืนอย่างสม่ำเสมอไม่สะท้อนแสง

4.7  วัสดุที่ปิดทับหน้าไม้สำหรับตีลูกเทเบิลเทนนิสจะต้องมีเครื่องหมายการค้าของบริษัทผู้ผลิต  ยี่ห้อ  รุ่น  และเครื่องหมาย  ITTF และชนิด  (BRAND AND TYPE)  ที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติ (ITTF) ครั้งหลังสุดเท่านั้น

4.8  สำหรับกาวที่มีส่วนประกอบของสารที่เป็นพิษจะไม่อนุญาตให้ใช้ทาลงบนหน้าไม้    เทเบิลเทนนิส   ผู้เล่นจะต้องใช้กาวแผ่นสำเร็จรูป   หรือกาวที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติ (ITTF)  เท่านั้น  และห้ามใช้กาวในการติดยางกับไม้เทเบิลเทนนิสในบริเวณสนามแข่งขัน

4.9  การเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยของความสม่ำเสมอของผิวหน้าไม้หรือวัสดุปิดทับ  หรือความไม่สม่ำเสมอของสีหรือขนาดเนื่องจากการเสียหายจากอุบัติเหตุ  การใช้งานหรือสีจางอาจจะอนุญาตให้ใช้ได้   โดยมีเงื่อนไขว่า  เหตุเหล่านั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญต่อคุณลักษณะของผิวหน้าไม้   หรือผิววัสดุปิดทับ

4.10   เมื่อเริ่มการแข่งขันและเมื่อใดก็ตามที่ผู้เล่นเปลี่ยนไม้เทเบิลเทนนิสระหว่างการแข่งขัน   ผู้เล่นจะต้องแสดงไม้เทเบิลเทนนิสที่เขาเปลี่ยนให้กับคู่แข่งขัน  และกรรมการผู้ตัดสินตรวจสอบก่อนทุกครั้ง

4.11 เป็นความรับผิดชอบของผู้เล่นที่ต้องมั่นใจว่าไม้เทเบิลเทนนิสนั้นถูกต้องตามกติกา

4.12 ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับอุปกรณ์การเล่นให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้ชี้ขาด

5. คำจำกัดความ  (DEFINITIONS)

                5.1 การตีโต้ (RALLY) หมายถึง  ระยะเวลาที่ลูกอยู่ในการเล่น

5.2 ลูกอยู่ในการเล่น (INPLAY) หมายถึง  เมื่อลูกเทเบิลเทนนิสได้หยุดนิ่งบนฝ่ามืออิสระก่อนการส่งลูกในจังหวะสุดท้าย  จนกระทั่งลูกนั้นให้เป็นเล็ท  หรือ ได้คะแนน

                5.3  การส่งใหม่ (LET)  หมายถึง การตีโต้ที่มีผลได้คะแนน

5.4 การได้คะแนน (POINT) หมายถึง การตีโต้ที่มีผลได้คะแนน

5.5 มือที่ถือไม้ (RACKET  HAND)  หมายถึง  มือในขณะที่ถือไม้เทเบิลเทนนิส

5.6 มืออิสระ (FREE HAVD)   หมายถึง มือในขณะที่ไม่ได้ถือไม้เทเบิลเทนนิส

5.7 การตีลูก (STRIKES)  หมายถึง  การที่ผู้เล่นสัมผัสลูกด้วยไม้เทเบิลเทนนิสขณะที่อยู่  หรือสัมผัสลูกด้วยมือที่ถือไม้เทเบิลเทนนิสตั้งแต่ข้อมือลงไป

5.8  การขวางลูก (OBSTRUCTS)   หมายถึง  ขณะที่ลูกอยู่ในการเล่น  หลังจากที่ฝ่ายตรงกันข้ามตีลูกมาโดยลูกนั้นยังไม่ได้กระทบแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง  และยังไม่พ้นเส้นสกัด  ปรากฏว่าผู้เล่นหรือสิ่งใด ๆ ที่เขาสวมใส่หรือถืออยู่สัมผัสถูกลูก  ปรากฏว่าผู้เล่นหรือสิ่งใด ๆ ที่เขาสวมใส่หรือถืออยู่สัมผัสถูกลูก  ขณะลูกนั้นอยู่เหนือระดับพื้นผิวโต๊ะ  หรือลูกนั้นมีทิศทางวิ่งเข้าหาพื้นผิวโต๊ะ

5.9  ผู้ส่ง  (SERVER)  หมายถึง  ผู้ที่ตีลูกเทเบิลเทนนิสเป็นครั้งแรกในการตีโต้

5.10  ผู้รับ (RECEIVER)  หมายถึง   ผู้ที่ตีลูกเทเบิลเทนนิสเป็นครั้งที่สองในการตีโต้

5.11 ผู้ตัดสิน  (UMPIRE)  หมายถึง  ผู้ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นเพื่อควบคุมการแข่งขัน

5.12 ผู้ช่วยตัดสิน (ASSISTANT   UMPIRE)  หมายถึง  ผู้ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นเพื่อช่วยผู้ตัดสินในการตัดสินใจ

5.13  สิ่งใด ๆ ที่ผู้เล่นสวมใส่หรือถืออยู่   หมายรวมถึง  สิ่งใด ๆ ก็ตามที่ผู้เล่นสวมใส่หรือถืออยู่ตั้งแต่เริ่มการตีโต้

5.14 ลูกเทเบิลเทนนิสจะถูกพิจารณาว่าผ่านตาข่าย  ถ้าข้ามผ่านหรืออ้อม  หรือลอดส่วนประกอบของตาข่าย  ยกเว้นลูกที่ลอดระหว่างตาข่ายกับพื้นผิวโต๊ะ  หรือลูกที่ลอดระหว่างตาข่ายกับอุปกรณ์ที่ยึดตาข่าย

5.15  เส้นสกัด (END LINE)  หมายรวมถึง  เส้นสมมุติที่ลากต่ออกไปจากเส้นสกัดทั้งสองด้านด้วย

6. การส่งที่ถูกต้อง (A  GOOD  SERVICE)

                6.1  เมื่อเริ่มส่ง ลูกเทเบิลเทนนิสต้องวางเป็นอิสระอยู่บนฝ่ามืออิสระ  โดยแบฝ่ามือออกและลูกจะต้องหยุดนิ่ง

6.2 ในการส่ง  ผู้ส่งจะต้องโยนลูกขึ้นข้างบนด้วยมือให้ลูกลอยขึ้นข้างบนใกล้เคียงกับเส้นตั้งฉาก  และให้สูงจากจุดที่ลูกออกจากฝ่ามือไม่น้อยกว่า  16  เซนติเมตร  โดยลูกที่โยนขึ้นไปนั้นจะต้องไม่เป็นลูกที่ถูกทำให้หมุนด้วยความตั้งใจ

6.3 ผู้ส่ง  จะตีลูกได้ในขณะที่ลูกเทเบิลเทนนิสได้ลดระดับจากจุดสูงสุดแล้ว  เพื่อให้ลูกกระทบแดนของผู้ส่งก่อน แล้วข้ามหรืออ้อมตาข่ายไปกระทบแดนของฝ่ายรับ   สำหรับประเภทคู่  ลูกเทเบิลเทนนิสจะต้องกระทบครึ่งแดนของผู้ส่งก่อน  แล้วข้ามหรืออ้อมตาข่ายไปกระทบครึ่งแดนขวาของฝ่ายรับ

6.4  ตั้งแต่เริ่มส่งลูกจนกระทั่งลูกถูกตี  ลูกเทเบิลเทนนิสจะต้องอยู่เหนือระดับพื้นผิวโต๊ะและอยู่หลังเส้นสกัด  และจะต้องไม่ให้ถูกส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย  หรือเสื้อผ้าของผู้ส่ง หรือคู่เล่นในประเภทคู่บังการมองเห็นของผู้รับ  ขณะที่เทเบิลเทนนิสถูกโยนขึ้น  มืออิสระของผู้ส่งจะต้องเคลื่อนออกจากบริเวณพื้นที่ระหว่างลำตัวผู้ส่งและตาข่าย (NET) (วัตถุประสงค์ของกติกาข้อนี้ ต้องการให้ผู้รับเห็นลูกเทเบิลเทนนิสตลอดเวลา  ทั้งนี้ผู้ส่งหรือคู่ของผู้ส่งจะต้องไม่แสดงท่าทางที่จะเป็นการบังมองเห็นของผู้รับตลอดเวลาตั้งแต่ลูกออกจากมือของผู้ส่ง  และเห็นถึงหน้าไม้ด้านที่ใช้ตีลูก)

6.5  เป็นความรับผิดชอบของผู้เล่นที่จะต้องให้ผู้ตัดสินหรือผู้ช่วยผู้ตัดสินเห็น  และตรวจสอบถึงการส่งนั้นว่าถูกต้องตามกติกาหรือไม่

6.5.1  ถ้าผู้ตัดสินสงสัยในลักษณะการส่งผู้ส่งได้ลูกถูกตามกติกาในโอกาสแรกของแมทช์เดียวกันนั้น   จะแจ้งให้ส่งลูกใหม่และเตือนผู้ส่งโดยยังไม่ตัดคะแนน

6.5.2  สำหรับในครั้งต่อไปในแมทช์เดียวกันนั้น  หากผู้เล่นหรือคู่เล่นยังคงส่งให้เป็นข้อสงสัยในทำนองเดียวกัน  หรือในลักษณะน่าสงสัยอื่น ๆ อีก  ผู้รับจะได้คะแนนทันที

6.5.3  หากผู้ส่งได้ส่งลูกผิดกติกาอย่างชัดเจน   ผู้ส่งจะเสียคะแนนทันที

6.6 ผู้ส่งอาจได้รับการอนุโลมได้บ้าง  หากผู้ส่งคนนั้นแจ้งให้ผู้ตัดสินทราบถึงการหย่อนสมรรถภาพทางร่างกาย   จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถส่งได้ถูกต้องตามกติกา  ทั้งนี้ต้องแจ้งให้ผู้ตัดสินทราบก่อนการแข่งขันทุกครั้ง

7.  การรับลูกที่ถูกต้อง (A  GOOD  RETURN)

                เมื่อลูกเทเบิลเทนนิสได้ถูกส่งหรือตีโต้ไปตกลงในแดนฝ่ายตรงข้ามอย่างถูกต้องแล้ว  ฝ่ายรับตีลูกข้ามหรืออ้อมตาข่ายกลับไปเพื่อให้ลูกกระทบแดนของอีกฝ่ายหนึ่งโดยตรง  หรือสัมผัสส่วนใดส่วนหนึ่งของตาข่ายแล้วตกลงในแดนของฝ่ายตรงข้าม

8. ลำดับการเล่น (THE  ORDER OF PLAY)

                8.1  ประเภทเดี่ยว  ฝ่ายส่งได้ส่งอย่างถูกต้อง  ฝ่ายรับจะตีโต้กลับไปอย่างถูกต้องหลังจากนั้นฝ่ายส่งและฝ่ายรับจะผลัดกันตีโต้

8.2  ประเภทคู่  ผู้ส่งลูกของฝ่ายส่งจะส่งลูกไปยังฝ่ายรับ ผู้รับของฝ่ายรับจะต้องตีลูกกลับ  แล้วคู่ของฝ่ายส่งจะตีลูกลับไป  จากนั้นคู่ของฝ่ายรับจะตีลูกกลับไปเช่นนี้สลับกันไปในการตีโต้

9. ลูกที่ให้ส่งใหม่ (A  LET)

                9.1  การส่งซึ่งถือให้เป็นการส่งใหม่  ต้องมีลักษณะดังนี้

9.1.1  ถ้าลูกที่ฝ่ายส่งได้ส่งไปกระทบส่วนต่าง ๆ ของตาข่าย แล้วข้ามไปในแดนของฝ่ายรับโดยถูกต้องหรือส่งไปกระทบส่วนต่าง ๆ ของตาข่าย  แล้วผู้รับหรือคู่ฝ่ายรับขวางลูก  หรือตีลูกก่อนที่ลูกจะตกกระทบแดนของเขาในเส้นสกัด

9.1.2 ในความเห็นของผู้ตัดสิน  ถ้าลูกที่ส่งออกไปแล้วฝ่ายรับหรือคู่ฝ่ายรับยังไม่พร้อมที่จะรับ  โดยมีข้อแม้ว่า  ฝ่ายรับหรือคู่ของฝ่ายรับไม่พยายามจะตีลูก

9.1.3 ในความเห็นของผู้ตัดสิน  หากมีเหตุรบกวนนอกเหนือการควบคุมของผู้เล่นทำให้การส่ง  การรับ  หรือการเล่นนั้นเสียไป

9.1.4  ถ้าการเล่นถูกยุติโดยผู้ตัดสินหรือผู้ช่วยตัดสิน

9.2  การเล่นอาจถูกยุติลงในกรณีต่อไปนี้

9.2.1 เพื่อแก้ไขข้อผิดพลาด  ในลำดับการส่ง  การรับลูกหรือการเปลี่ยนแดน

9.2.2  เมื่อการแข่งขันได้ถูกกำหนดให้ใช้ระบบการแข่งขันระบบการแข่งขันแบบเร่งเวลา

9.2.3 เพื่อเตือนหรือลงโทษผู้เล่น

9.2.4 ในความคิดเห็นของผู้ตัดสิน  หากเห็นว่าสภาพการเล่นถูกรบกวนอันจะเป็นผลต่อการเล่น

10. ได้คะแนน (A  POINT)

                นอกจากการตีโต้จะถูกสั่งให้เป็นเน็ท   ผู้เล่นจะได้รับคะแนนจากกรณีดังต่อไปนี้

10.1  ถ้าผู้เล่นฝ่ายตรงกันข้าม  ไม่สามารถส่งลูกได้อย่างถูกต้อง

10.2   ถ้าผู้เล่นฝ่ายตรงกันข้าม  ไม่สามารถรับลูกได้อย่างถูกต้อง

10.3  ถ้าผู้เล่นฝ่ายตรงกันข้าม  ตีลูกสัมผัสถูกสิ่งใด ๆ  นอกเหนือจากส่วนประกอบของตาข่าย

10.4  ถ้าผู้เล่นฝ่ายตรงกันข้าม  ตีลูกผ่านเลยเส้นสกัดของเขาโดยไม่ได้สัมผัสกับพื้นผิวโต๊ะ

10.5  ถ้าผู้เล่นฝ่ายตรงกันข้าม  ขวางลูก

10.6  ถ้าผู้เล่นฝ่ายตรงกันข้าม  ตีลูกติดต่อกันสองครั้ง

10.7  ถ้าผู้เล่นฝ่ายตรงกันข้าม  ตีลูกด้วยหน้าที่ไม่ถูกต้องตามกติกา

10.8  ถ้าผู้เล่นฝ่ายตรงกันข้าม  หรือสิ่งใด ๆ ที่ผู้เล่นฝ่ายตรงกันข้ามสวมใส่หรือถืออยู่  ทำให้พื้นผิวโต๊ะเคลื่อนที่

10.9  ถ้าผู้เล่นฝ่ายตรงกันข้าม  หรือสิ่งใด ๆ  ที่ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามสวมใส่หรือถืออยู่   สัมผัสถูกส่วนต่าง ๆ ของตาข่าย

10.10  ถ้าผู้เล่นฝ่ายตรงกันข้าม  ใช้มืออิสระสัมผัสถูกผิวโต๊ะ

10.11  ถ้าผู้เล่นฝ่ายตรงกันข้าม  ตีลูกผิดลำดับในการเล่นประเภทคู่ยกเว้นลำดับโดยคนเสิร์ฟ  หรือคนเสิร์ฟ

10.12  ในระบบการแข่งขันแบบเร่งเวลา   ถ้าเขาหรือคู่ของเขาสามารถตีโต้กลับไปได้อย่างถูกต้องครบ  13  ครั้ง

11. เกมการแข่งขัน  (A GAME)

            ผู้เล่นหรือคู่เล่นที่ทำคะแนนได้  11 คะแนนก่อน  จะเป็นฝ่ายชนะ  ยกเว้นถ้าผู้เล่นทั้งสองฝ่ายทำคะแนนได้  10 คะแนนเท่ากันจะต้องแข่งขันต่อไป  โดยฝ่ายใดทำคะแนนได้มากกว่าอีกฝ่ายหนึ่ง    2  คะแนน  จะเป็นฝ่ายชนะ

12. แมทช์การแข่งขัน  (A MATCH)

            ในหนึ่งแมทช์ประกอบด้วยเกมการแข่งขันที่เป็นจำนวนเลขคี่  เช่น 2  ใน 3  เกม, 3ใน 5 เกม, 4 ใน 7  เกม   เป็นต้น

13. ลำดับการส่ง  การรับ  และแดน  (THE ORDER OF SERVING, RECEIVING AND ENDS)

            13.1  สิทธิ์ในการเลือกส่ง   เลือกรับ  หรือเลือกแดน  จะใช้วิธีเสี่ยงทาย  โดยผู้ชนะในการเสี่ยงจะต้องเป็นผู้เลือก

13.2  เมื่อผู้เล่นหรือคู่ของผู้เล่น  ได้เลือกอย่างหนึ่งอย่างใดแล้วผู้เล่นหรือคู่เล่นอีกฝ่ายหนึ่งจะเป็นฝ่ายเลือกในหัวข้อที่เหลืออยู่

13.3  ผู้เล่นหรือคู่เล่นทั้งสองผลัดกันส่งลูกฝ่ายละ  2 คะแนน  จนกระทั่งจบเกมการแข่งขัน  ยกเว้นผู้เล่นหรือคู่เล่นทั้งสองฝ่ายทำคะแนนได้  10  คะแนนเท่ากัน  หรือเมื่อนำระบบการแข่งขันแบบเร่งเวลามาใช้  แต่ละฝ่ายจะผลัดกันส่งลูกฝ่ายละ 1 คะแนน

13.4  ในเกมแรกของประเภทคู่  ฝ่ายซึ่งมีสิทธิ์ในการส่งก่อนต้องเลือกว่าใครจะเป็นผู้ส่งก่อน  จากนั้นฝ่ายรับจะเลือกผู้ที่จะเป็นผู้รับสำหรับในเกมถัดไปของแมท์นั้นฝ่ายส่งในเกมนั้นจะเป็นผู้เลือกส่งก่อนบ้าง  โดยส่งให้กับผู้ที่ส่งให้เขาในเกมก่อนหน้านั้น

13.5  ในประเภทคู่  ทุก ๆ ครั้งที่เปลี่ยนการส่งลูก  ผู้ที่เคยเป็นผู้รับลูกจะกลายเป็นผู้ส่งลูกบ้าง  โดยส่งให้กับคู่ของผู้ที่ส่งลูกให้กับเขาก่อนหน้านั้น

13.6  ผู้เล่นหรือคู่เล่นที่เป็นฝ่ายส่งลูกก่อนในเกมแรกจะเป็นฝ่ายรับลูกก่อนในเกมต่อไป  สลับกันจนจบแมทช์   และในเกมสุดท้ายของประเภทคู่  ฝ่ายรับจะต้องเปลี่ยนผู้รับทันทีเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำคะแนนได้  5 คะแนนก่อน

13.7  ผู้เล่นหรือคู่เล่นจะต้องเปลี่ยนแดนทันทีเมื่อการแข่งขันในแต่ละเกมสิ้นสุดลงสลับกันจนจบแมทช์  และในการแข่งขันเกมสุดท้ายผู้เล่นหรือคู่เล่นทั้งสองฝ่าย  จะต้องเปลี่ยนแดนทันที  เมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำคะแนนได้  5  คะแนนก่อน

14. การผิดลำดับในการส่ง  การรับ  และแดน

 (OUT OF ORDER OF SERVING,RECEIVING  OR ENDS)

14.1  ถ้าผู้เล่นส่งหรือรับลูกผิดลำดับ  กรรมการผู้ตัดสินจะยุติการเล่นทันทีที่ได้ค้นพบข้อผิดพลาด   และทำการเริ่มเล่นใหม่  โดยผู้เล่นและผู้รับที่ควรจะเป็นผู้ส่งและผู้รับตามลำดับที่ได้จัดวางไว้  ตั้งแต่เริ่มการแข่งขันของแมทช์นั้นต่อจากคะแนนที่ทำได้  สำหรับในประเภทคู่  หากไม่สามารถทราบถึงผู้ส่งและผู้รับที่ถูกต้อง  ลำดับในการส่งจะถูกจัดให้ถูกต้อง  โดยคู่ที่มีสิทธิ์ในครั้งแรกของเกมที่ค้นพบข้อผิดพลาดนั้น

14.2  ถ้าผู้เล่นไม่ได้เปลี่ยนแดนกันเมื่อถึงคราวต้องเปลี่ยนแดนกรรมการผู้ตัดสินจะยุติการเล่นทันทีที่ทราบ  และจะเริ่มเล่นใหม่โดยเปลี่ยนแดนกันให้ถูกต้องตามลำดับที่จัดไว้ตั้งแต่การเริ่มการแข่งขันของแมทช์นั้นต่อจากคะแนนที่ได้

14.3  กรณีใด ๆ ก็ตาม  คะแนนทั้งหมดซึ่งทำไว้ก่อนที่จะค้นพบข้อผิดพลาดให้ถือว่าใช้ได้

15.  ระบบการแข่งขันเร่งเวลา  (THE  EXPEDITE   SYSTEM)

            15.1  ระบบการแข่งขันเร่งเวลาจะถูกนำมาใช้  ถ้าเกมการแข่งขันในเกมนั้นไม่เสร็จสิ้นภายในเวลา  10 นาที  หรือก่อนครบกำหนดเวลาก็ได้  ถ้าผู้เล่นหรือคู่เล่นทั้งสองฝ่ายต้องการ  ยกเว้นในกรณีที่ผู้เล่นหรือคู่เล่นทั้งสองฝ่ายมีคะแนนไม่น้อยกว่า  9 คะแนนจะแข่งขันตามระบบเดิม

15.1.1 ถ้าลูกไม่ได้อยู่ในการเล่น  และครบกำหนดเวลาแข่งขันพอดี การเล่นนั้นจะถูกยุติลงโดยกรรมการผู้ตัดสิน  และจะเริ่มใหม่ด้วยการส่งโดยผู้เล่นซึ่งเป็นผู้ส่งก่อนที่การตีโต้นั้นถูกยุติลง

15.1.2  ถ้าลูกไม่ได้อยู่ในการเล่น  และครบกำหนดเวลาพอดี  การเล่นนั้นจะเริ่มเล่นใหม่ด้วยการส่งโดยผู้เล่นที่เป็นฝ่ายรับลูกอยู่ก่อนที่เวลานั้นจะสิ้นสุดลง

15.2  หลังจากนั้นผู้เล่นแต่ละคนจะเปลี่ยนกันส่งคนละ 1 คะแนน  จนกระทั่งจบการเกมการแข่งขัน  และในการตีโต้หากผู้รับหรือคู่เล่นฝ่ายรับสามารถตีโต้กลับมาถูกต้องครบ 13 ครั้ง  ฝ่ายส่งจะเสีย  1 คะแนน

15.3  เมื่อระบบการแข่งขันเร่งเวลานำมาใช้ในเกมใด  ในเกมที่เหลือของแมทช์นั้น ๆ  จะต้องแข่งขันภายใต้ระบบเร่งเวลา

16. เครื่องแต่งกาย  (CLOTHING)

            16.1  เสื้อผ้าที่ใช้แข่งขัน  ปกติจะประกอบไปด้วยเสื้อแขนสั้นหรือแกนกุด  กางเกงขาสั้นหรือกระโปรง หรือส่วนหนึ่งของชุดกีฬา  ถุงเท้าและรองเท้า  ส่วนเสื้อผ้าชนิดอื่น ๆ เช่น   บางส่วนหรือทั้งหมดของชุดวอร์ม   จะไม่อนุญาตให้ใส่ในระหว่างการแข่งขัน   ยกเว้นได้รับอนุญาตจากผู้ชี้ขาด  สำหรับในการแข่งขันระดับภายในประเทศไทยให้ผู้เข้าแข่งขันจะต้องมีปกเท่านั้น

16.2 นอกจากแขนเสื้อและปกของเสื้อแข่งขันแล้ว  สีส่วนใหญ่ของเสื้อแข่งขัน  กางเกง หรือกระโปรง จะต้องเป็นสีที่แตกต่างกันกับลูกเทเบิลเทนนิสที่ใช้ในการแข่งขันอย่างชัดเจน

16.3  บนเสื้อแข่งขันอาจมีเครื่องหมายใด ๆ  ได้ดังนี้

16.3.1  ด้านหลังของเสื้อแข่งขัน  อาจมีหมายเลขหรือตัวอักษรแสดงสังกัดหรือแสดงถึงรายการการแข่งขัน  หรือกรณีที่เป็นรายชื่อผู้เล่นจะต้องอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่าปกเสื้อลงมา

16.3.2  เสื้อผ้าอาจสามารถโฆษณาในขนาดที่กำหนดไว้ตามข้อ 18.5

16.4   หมายเลขประจำตัวของผู้เล่นที่ติดอยู่บนหลังเสื้อจะต้องอยู่ตรงกลางของหลังเสื้อ  โดยมีขนาดใหญ่ได้ไม่เกิน  600 ตารางเซนติเมตรและมีความเด่นชัดเหนือโฆษณา

16.5  การทำเครื่องหมายหรือการเดินเส้นใด ๆ บนด้านหน้าหรือด้านข้างของเสื้อผ้าหรือวัสดุใด ๆ เช่น  เครื่องประดับที่สวมใส่จะต้องไม่รบกวนสายตาหรือสะท้อนแสงไปยังสายตาของฝ่ายตรงข้าม

16.6  รูปแบบของเสื้อผ้าชุดแข่งขัน  ตัวอักษร  หรือการออกแบบใด ๆ จะต้องเป็นรูปแบบที่เรียบร้อย   ไม่ทำให้เกมนั้นเสื่อมเสีย

16.7  สำหรับปัญหาใด ๆ  ที่เกี่ยวกับระเบียบข้อบังคับของชุดแข่งขันหรือข้อยกเว้นต่าง ๆ ให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้ชี้ขาด

16.8 ในการแข่งขันประเภททีมและในการแข่งขันประเภทคู่นักกีฬาที่มาจากสังกัดเดียวกันจะต้องแต่งกายให้มีสีและรูปแบบที่เหมือนกันเท่าที่จะเป็นไปได้   ยกเว้น  ถุงเท้า รองเท้าและหมายเลขประจำตัว  ขนาด  สี   และรูปแบบของการโฆษณาบนชุดแข่งขัน

16.9 นักกีฬาทั้ง  2 ฝ่าย  จะต้องแต่งกายด้วยสีที่แตกต่างกัน  เพื่อง่ายต่อการสังเกตของผู้ชม

16.10  หากผู้เล่นหรือทีมไม่สามารถตกลงกันได้ในกรณีชุดแข่งที่เหมือนกัน จะใช้วิธีการจับฉลาก

16.11  ในการแข่งขันระดับโลก  ระดับโอลิมปิก  หรือการแข่งขันระดับนานาชาติทั่วไป  ผู้เล่นจะต้องสวมชุดแข่งขันที่เป็นทางการของประเทศตนเองเท่านั้น

17. สภาพสนามแข่งขัน (PLAYING  CONDITIONS)

            17.1 มาตรฐานของพื้นที่แข่งขันจะต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า   7 เมตร  ความยาวไม่น้อยกว่า  14  เมตร  และสูงไม่น้อยกว่า  5  เมตร

17.2 พื้นที่การแข่งขันจะถูกล้อมไว้โดยรอบซึ่งที่ปิดล้อมหรือแผงกั้นจะมีขนาดสูงประมาณ 75 เซนติเมตร  แยกพื้นที่การแข่งขันออกจากผู้ชม

17.3  ในการแข่งขันระดับโลกหรือโอลิมปิก  ความสว่างของแสงเมื่อวัดจากพื้นผิวโต๊ะแล้วจะต้องมีความเข้มของแสงโดยสม่ำเสมอไม่น้อยกว่า  1000  ลักซ์   และสว่างในส่วนอื่น ๆ ของพื้นที่สนามแข่งขันจะต้องมีความเข้มของแสงไม่น้อยกว่า 500  ลักซ์ สำหรับการแข่งขันในระดับอื่น ๆ  ความสว่างบนพื้นผิวโต๊ะจะต้องไม่น้อยกว่า  600  ลักซ์  และพื้นที่สนามแข่งขันไม่น้อยกว่า 400 ลักซ์

17.4  ถ้าในสนามแข่งขันมีโต๊ะหลายตัว  ระดับความเข้มของแสงสว่างเมื่อวัดบนพื้นผิวโต๊ะ  จะต้องมีความเข้มของแสงโดยสม่ำเสมอเท่ากันทุก ๆ ตัว  และความเข้มของแสงหลังฉากของสนามแข่งขัน  จะต้องไม่เข้มไปกว่าความเข้มของแสงที่วัดได้ต่ำสุดบนพื้นผิวโต๊ะแข่งขัน

17.5 แหล่งกำเนิดของแสงสว่างจะต้องอยู่สูงกว่าพื้นสนามแข่งขันไม่น้อยกว่า  5  เมตร

17.6 ฉากหลังโดยทั่ว ๆ ไป  จะต้องมืดและไม่มีแสงสว่างจากแหล่งกำเนิดไฟอื่น หรือแสงจากธรรมชาติผ่านเข้ามาตามช่วงหรือหน้าต่าง

17.7  พื้นสนามแข่งขันจะต้องไม่เป็นสีสว่าง  สะท้อนแสงหรือลื่น และจะต้องไม่เป็นอิฐ  คอนกรีต  หรือหิน  สำหรับการแข่งขันระดับโลกหรือโอลิมปิก  พื้นสนามแข่งขันจะต้องเป็นไม้หรือวัสดุยางสังเคราะห์ที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์เทเบิลเทนนิสนานาชาติ

18. การโฆษณา  (ADVERTISMENTS)

            18.1  การโฆษณาภายในพื้นที่การแข่งขันสามารถทำได้เฉพาะบนอุปกรณ์การแข่งขัน   โดยไม่มีการต่อเติมออกมาเป็นพิเศษ

18.2  การโฆษณาภายในพื้นที่แข่งขันต้องไม่ใช้หลอดนีออนหรือแสงสว่างสีต่าง ๆ

18.3  ตัวอักษรหรือสัญลักษณ์ภายในที่ปิดล้อมหรือแผงกั้นลูกจะต้องไม่เป็นสีขาวหรือสีส้ม   และจะต้องมีสีไม่มากกว่า  2 สี  โดยมีขนาดความสูงไม่เกิน  40 เซนติเมตร  และควรจะเป็นสีเดียวกันกับสีของแผงกั้นลูกโดยเป็นสีที่อ่อนกว่า  หรือเข้มกว่า

18.4 การโฆษณาบนเก้าอี้หรือโต๊ะตัดสินหรือบนเครื่องใช้อื่น ๆ ภายในพื้นที่การแข่งขันจะต้องมีขนาดใหญ่ไม่เกิน  750  ตารางเซนติเมตร

18.5  การโฆษณาบนเสื้อผ้าของผู้เล่น   มีข้อจำกัด   ดังนี้

18.5.1 สัญลักษณ์หรือชื่อเครื่องหมายการค้าจะมีขนาดใหญ่ได้ไม่เกิน                    24  เซนติเมตร

18.5.2  บนเสื้อแข่งขันสามารถมีโฆษณาได้ไม่เกิน  6 ชิ้น  โดยจะต้องแยกออกจากกันอย่างชัดเจนบนด้านหน้า   ด้านข้าง  หรือบนไหล่ของเสื้อแข่งขัน  ซึ่งการโฆษณาจะมีพื้นที่รวมกันแล้วไม่เกิน  600  ตารางเซนติเมตร  โดยโฆษณาบนด้านหน้าได้ไม่เกิน  4  ชิ้น

18.5.3  บนกางเกงหรือกระโปรงการแข่งขัน  สามารถมีโฆษณาได้ไม่เกิน  2 ชิ้น  โดยจะต้องแยกออกจากกันอย่างชัดเจน   ซึ่งการโฆษณาจะมีพื้นที่รวมกันแล้วไม่เกิน 80  ตารางเซนติเมตร

18.5.4  ด้านหลังของเสื้อแข่งขัน  สามารถโฆษณาได้ไม่เกิน  2 ชิ้น  และมีขนาดใหญ่ได้ไม่เกิน  400  ตารางเซนติเมตร

18.6 การทำเครื่องหมายใด ๆ  บนพื้นสนามแข่งขัน และบนขอบโต๊ะด้านปลายโต๊ะ  และขอบโต๊ะด้านปลายโต๊ะ  และขอบโต๊ะด้านข้างโต๊ะ ควรจะเป็นสีเฉดเดียวกับสีพื้นของสนามแข่งขันหรือสีพื้นของขอบโต๊ะนั้น ๆ โดยมีสีเข้มกว่าหรือจางเล็กน้อย  หรือเป็นเครื่องหมายสีดำทั้งหมด

18.7  เครื่องหมายป้ายโฆษณาบนพื้นของแต่ละพื้นที่แข่งขันมีได้ไม่เกิน 4 ชิ้น  โดยอยู่บนด้านปลายโต๊ะข้างละ 1 ชิ้น  และอยู่บนพื้นด้านข้างแต่ละข้างของโต๊ะข้างละ 1 ชิ้น โดยโฆษณาแต่ละชิ้นต้องมีขนาดไม่เกิน  2.5  เมตร  และต้องอยู่ในบนพื้นทางด้านปลายของโต๊ะ  ห้ามห่างจาก   แผงกั้นลูกมากกว่า  2  เมตร

18.8  ในบริเวณพื้นที่ครึ่งหนึ่งของขอบโต๊ะแต่ละข้างของโต๊ะแข่งขัน  อนุญาตให้ติดป้ายโฆษณาจำนวน  1 ชิ้น  และบนของโต๊ะด้านบนของด้านปลายโต๊ะของแต่ละด้าน  อนุญาตให้ติดป้ายโฆษณาที่ติดไว้เดิมอย่างเด่นชัด  และจะต้องไม่เป็นป้ายโฆษณาของผู้ผลิตหรือขายอุปกรณ์      เทเบิลเทนนิสยี่ห้ออื่น ๆ และมีความยาวไม่เกินชิ้นละ  60  เซนติเมตร

18.9  ป้ายโฆษณาบนตาข่ายจะต้องเป็นสีเข้ม  หรือสีที่จางกว่าสีพื้นของตาข่าย  และจะต้องมีระยะห่างจากแนวสีขอบด้านบนของตาข่าย 3 เซนติเมตร และต้องไม่บังทับรูของตาข่าย

18.10  การโฆษณาบนหมายเลขที่ติดบนด้านหลังของผู้เล่นจะมีขนาดใหญ่ได้ไม่เกิน  100  ตารางเซนติเมตร

18.11  การโฆษณาบนเสื้อของกรรมการผู้ตัดสินจะมีขนาดใหญ่ได้ไม่เกิน 40 ตารางเซนติเมตร

18.12 ในการแข่งขันระดับนานาชาติ  บนผู้เล่นจะต้องไม่มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์บุหรี่  เครื่องดื่มแอลกอฮอล์  หรือยาที่เป็นอันตราย

19. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวกับการตัดสิน (JURISDICTION   OF  OFFICIALS)

            19.1  ผู้ชี้ขาด  (REFEREE)

19.1.1  ผู้ชี้ขาดจะต้องถูกแต่งตั้งขึ้นในการแข่งขัน  แต่ละครั้งเพื่อควบคุมการแข่งขัน  โดยชื่อ  และที่ติดต่อจะต้องเป็นที่ทราบแก่ผู้เข้าแข่งขันหรือหัวหน้าทีมต่าง ๆ  พอสมควร

19.1.2  ผู้ชี้ขาดมีหน้าที่รับผิดชอบ  ดังนี้

19.1.2.1  มีหน้าที่เกี่ยวกับการจับฉลาก

19.1.2.2  จัดตารางเวลาและกำหนดโต๊ะแข่งขัน

19.1.2.3 แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ในการแข่งขัน  เช่น  ผู้ตัดสิน  ผู้ช่วยผู้ตัดสิน ฯลฯ

19.1.2.4 ตัดสินปัญหาในเรื่องของการตีความกติกาหรือข้อบังคับต่าง ๆ รวมไปถึงข้อบังคับเกี่ยวกับเสื้อผ้าอุปกรณ์การแข่งขัน  และสภาพของสนามแข่งขัน

19.1.2.5  ตัดสินว่าผู้เล่นจะสวมชุดวอร์มลงแข่งขันได้หรือไม่

19.1.2.6 ตัดสินว่าจะยุติการเล่นเป็นการฉุกเฉินได้หรือไม่

19.1.2.7  ตัดสินว่าผู้เล่นจะออกนอกพื้นที่การแข่งขันในระหว่างการแข่งขันได้หรือไม่

19.1.2.8 ตัดสินว่าผู้เล่นจะฝึกซ้อมได้เกินตามเวลาที่กำหนดไว้ได้หรือไม่

19.1.2.9  มีหน้าที่ที่จะใช้มาตรการลงโทษ สำหรับผู้ประพฤติผิดมารยาทหรือละเมิดข้อบังคับอื่น ๆ

19.1.2.10  มีหน้าที่ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เล่นให้ไปตามระเบียบการแข่งขัน

19.1.2.11 ตัดสินว่าจะให้ผู้เล่นฝึกซ้อมที่ใดขณะยุติการเล่นฉุกเฉิน

19.1.3   หากหน้าที่ต่าง ๆ  ที่กล่าวมา  คณะกรรมการจัดการแข่งขันได้มอบหมายให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งทำหน้าที่แทนชื่อ  และที่ติดต่อของบุคคลนั้นจะต้องเป็นที่ทราบแก่ผู้เข้าร่วมแข่งขันหรือหัวหน้าทีมต่าง ๆ  ตามสมควร

19.1.4   ผู้ชี้ขาดหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบรองลงไปจะต้องอยู่  ณ  ที่แข่งขันตลอดเวลาการแข่งขัน

19.1.5  ผู้ชี้ขาดสามารถที่จะลงทำหน้าที่แทนผู้ตัดสินผู้ช่วยตัดสิน  หรือเจ้าหน้าที่นับจำนวนครั้งได้ทุกโอกาส  แต่จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงคำตัดสินหรือผู้ช่วยตัดสินที่ได้ตัดสินไปแล้วในปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับข้อเท็จจริง

19.1.6 ผู้เล่นจะอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ชี้ขาด   นับตั้งแต่เวลามาถึงสถานที่แข่งขัน  จนกระทั่งออกจากสถานที่แข่งขัน

19.2  ผู้ตัดสิน  (UMPIRE)

19.2.1  ผู้ตัดสินจะถูกแต่งตั้งขึ้น  1 คน  และผู้ช่วยผู้ตัดสิน 1 คน  ในแต่ละแมทช์  โดยจะนั่งหรือยืนตรงด้านข้างของโต๊ะในแนวเดียวกันกับตาข่ายและจะห่างจากโต๊ะประมาณ  2-3  เมตร

19.2.2  ผู้ตัดสินมีหน้าที่รับผิดชอบ  ดังนี้

19.2.2.1  ตรวจอุปกรณ์  และดูแลสภาพความเรียบร้อยของสนามแข่งขัน  และรายงานต่อผู้ชี้ขาดทันทีที่สภาพสนามบกพร่อง

19.2.2.2  ทำหน้าที่ในการสุ่มเพื่อเลือกลูกเทเบิลเทนนิสตามข้อ  21.1.2 และ 21.1.3

19.2.2.3  ทำหน้าที่ในการเสี่ยง  เพื่อให้ผู้เล่นเลือกเสิร์ฟ  เลือกรับ  หรือเลือกแดน

19.2.2.4  ตัดสินใจผ่อนผันในการเสิร์ฟลูกของผู้เล่นที่หย่อนสมรรถภาพทางร่างกาย

19.2.2.5  ควบคุมลำดับการเสิร์ฟ  การรับ  การเปลี่ยนแดน  และแก้ไขในกรณีที่ผิดพลาด

19.2.2.6  ตัดสินผลของการตีโต้ว่าได้คะแนนหรือเล็ท

19.2.2.7 ทำหน้าที่ในการขานคะแนนและให้สัญญามือตามข้อ 19.2.3

19.2.2.8  เป็นผู้แนะนำระบบการแข่งขันแบบเร่งเวลา

19.2.2.9  ควบคุมการแข่งขันให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง

19.2.2.10  ควบคุมการแนะนำหรือการสอนผู้เล่น  และมารยาทความประพฤติของผู้เล่นให้เป็นไปตามกติกา

19.2.3 ผู้ตัดสินจะใช้สัญญาณมือเพื่อช่วยในการตัดสินควบคุมไปกับการขานคะแนน  ดังนี้

19.2.3.1  เมื่อได้คะแนน  ผู้ตัดสินจะกำมือ  โดยหันหน้ามือออก  ยกกำปั้นขึ้นมาโดยข้อศอกอยู่ระดับเดียวกันกับหัวไหล่ด้านของฝ่ายที่ได้คะแนน

19.2.3.2  ในตอนเริ่มเกมหรือในการเปลี่ยนเสิร์ฟ  ผู้ตัดสินจะผายมือไปยังแดนหรือฝ่ายนั้น ๆ

19.2.3.3  เมื่อการเล่นเป็นเล็ท  ผู้ตัดสินจะยกมือไปข้างหน้าเหนือศีรษะ  เพื่อแสดงว่าการตีโต้นั้นหยุดลง

19.2.3.4  เมื่อลูกถูกด้านขอบบนโต๊ะ  ผู้ตัดสินจะชี้มือไปยังจุดที่ถูกสัมผัสถูกขอบโต๊ะ

19.2.3.5  ขณะเปลี่ยนแดนในครึ่งเกมสุดท้ายผู้ตัดสินจะไขว้มือทั้ง 2  ข้างในระดับอก  เพื่อให้ผู้เล่นเปลี่ยนแดนกัน

19.2.4  ผู้เล่นจะอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ตัดสิน  นับตั้งแต่เวลามาถึงพื้นที่การแข่งขันจนกระทั่งออกจากพื้นที่การแข่งขัน

19.3  ผู้ช่วยผู้ตัดสิน   (ASSISTANT  UMPIRE)

19.3.1   ผู้ช่วยตัดสินมีหน้าที่ตัดสินว่าลูกเทเบิลเทนนิสสัมผัสถูกขอบโต๊ะหรือไม่  ในด้านที่ใกล้ที่สุดกับตนเอง

19.3.2  ทั้งผู้ตัดสินและผู้ช่วยตัดสินอาจจะตัดสินใจ  ดังนี้

19.3.2.1   พิจารณาลักษณะการส่งลูกของผู้เล่นว่าถูกต้องตามกติกาหรือไม่

19.3.2.2  ในการเสิร์ฟ  ลูกนั้นสัมผัสถูกตาข่ายหรือไม่

19.3.2.3  พิจารณาว่าผู้เล่นขวางลูกหรือไม่

19.3.2.4  ในขณะแข่งขันมีสิ่งเข้ามารบกวนอันจะมีผลต่อการแข่งขันหรือไม่

19.3.2.5  รักษาเวลาในการฝึกซ้อม  ในการเล่นหรือในขณะหยุดพัก

19.3.3  การตัดสินใด ๆ ของผู้ตัดสิน  และผู้ช่วยผู้ตัดสินตามข้อ 19.3.2  จะต้องไม่ก้าวก่ายต่อหน้าที่ของเจ้าหน้าที่อื่น ๆ  ที่แต่งตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ

19.3.4  ในการแข่งขันระบบเร่งเวลา  จะให้ผู้ช่วยผู้ตัดสินหรือจะแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ขึ้นมาต่างหาก  เป็นผู้นับจำนวนครั้งก็ได้

20.  การประท้วง  (APPEALS)

            20.1 จะไม่มีการตกลงกันเองของผู้เล่นหรือหัวหน้าทีมที่จะเปลี่ยนแปลงคำตัดสินของผู้ตัดสินหรือเจ้าหน้าที่   ในกรณีที่เกมการแข่งขันเกิดปัญหาขึ้นตามข้อเท็จจริง  หรือเปลี่ยนแปลงการตีความกติกาหรือกฎข้อบังคับของผู้ชี้ขาดหรือเปลี่ยนแปลงการตีความกติกาแข่งขัน  ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการจัดการแข่งขัน

20.2  การประท้วงจะต้องไม่คัดค้านต่อการตัดสินของผู้ตัดสินหรือเจ้าหน้าที่ในกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นตามข้อเท็จจริงหรือประท้วงในการตัดสินของผู้ชี้ขาดในกรณีที่เกี่ยวกับการตีความตามกติกาหรือกฎข้อบังคับ

20.3  การประท้วงเกี่ยวกับการตัดสินของผู้ชี้ขาดในกรณีเกี่ยวกับการตีความในปัญหาของกติกา  หรือกฎข้อบังคับให้ประท้วงต่อผู้ชี้ขาด  และคำตัดสินของผู้ชี้ขาดถือเป็นข้อยุติ

20.4  การประท้วงเกี่ยวกับการตัดสินของผู้ขี้ขาดในกรณีปัญหาของการจัดการแข่งขัน  นอกเหนือจากกติกาหรือกฎข้อบังคับ   ให้ทำการประท้วงต่อคณะกรรมการจัดการแข่งขัน  และการตัดสินของคณะกรรมการจัดการแข่งขัน   ถือว่าสิ้นสุด

20.5 การแข่งขันประเภทบุคคล   การประท้วงจะทำได้เฉพาะผู้เล่นซึ่งเป็นคู่กรณีในแมทช์ที่ปัญหาได้เกิดขึ้น  และในการแข่งขันประเภททีม  การประท้วงจะทำได้เฉพาะหัวหน้าทีมซึ่งเป็นคู่กรณีในแมทช์ที่ปัญหาเกิดขึ้นเท่านั้น

20.6  ปัญหาการตีความกติกาหรือกฎข้อบังคับที่เกิดจากการตัดสินของผู้ตัดสินของผู้ชี้ขาดหรือปัญหาของการจัดการแข่งขันหรือดำเนินการแข่งขันที่เกิดขึ้นจากการตัดสินของคณะกรรมการจัดการแข่งขันผู้เล่นหรือหัวหน้าทีมอาจจะประท้วงผ่านต้นสังกัดหรือสโมสรของตนไปยังสมาคมก็ได้  สำหรับการพิจารณาของสมาคมจะพิจารณาหาข้อปฏิบัติ  สำหรับการตัดสินต่อไปในอนาคต  แต่ทั้งนี้จะไม่มีผลต่อคำตัดสินในครั้งที่ผ่านมาใด ๆ  ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว   โดยผู้ชี้ขาดหรือคณะกรรมการจัดการแข่งขันที่รับผิดชอบ

21. การดำเนินการแข่งขัน  (MATCH  PROCEDURE)

            21.1  ผู้เล่นจะต้องไม่ทำการคัดเลือกลูกเทเบิลเทนนิสในพื้นที่แข่งขัน

21.1.1  หากมีโอกาส  ควรให้ผู้เล่นทำการคัดเลือกลูกเทเบิลเทนนิสที่จะใช้ทำการแข่งขันจำนวน  1 ลูกหรือมากกว่าก่อนที่ผู้เล่นจะลงทำการแข่งขัน   และการแข่งขันในแมทช์นั้น ๆ  จะต้องแข่งขันด้วยลูกเทเบิลเทนนิสที่ผู้เล่นคัดเลือกมาเท่านั้น  โดยผู้ตัดสินเป็นผู้สุ่มขึ้นมา

21.1.2  หากผู้เล่นไม่ได้คัดเลือกลูกเทเบิลเทนนิสก่อนลงทำการแข่งขัน  ให้ผู้ตัดสินผู้สุ่มจากลูกที่มีอยู่เพื่อใช้แข่งขัน

21.1.3  ระหว่างแมทช์การแข่งขัน   หากจะต้องเปลี่ยนลูกเทเบิลเทนนิสที่ใช้แข่งขัน   ให้ผู้ตัดสินสุ่มเลือกลูกที่ได้เลือกไว้ก่อนการแข่งขัน  หากไม่สามารถทำได้  ให้ผู้ตัดสินสุ่มเลือกลูกที่ได้จัดเตรียมไว้เพื่อแข่งขัน

21.2  ผู้เล่นจะเปลี่ยนไม้เทเบิลเทนนิสได้ในระหว่างแมทช์ การแข่งขันเมื่อเกิดจากอุบัติเหตุจนไม่สามารถใช้แข่งขันได้เท่านั้น   โดยผู้เล่นสามารถเปลี่ยนไม้อันใหม่ได้  ด้วยไม้ของผู้เล่นที่นำติดตัวเข้ามาในพื้นที่การแข่งขันหรือไม้ที่ถูกส่งให้กับผู้เล่นในพื้นที่การแข่งขันก็ได้

21.3  ผู้เล่นจะต้องวางไม้เทเบิลเทนนิสของเขาบนโต๊ะแข่งขันระหว่างหยุดพักระหว่างเกม

21.4 ผู้เล่นจะได้รับอนุญาตให้ฝึกซ้อมบนโต๊ะแข่งขันเป็นเวลาไม่เกิน  2 นาที  ก่อนการแข่งขัน  สำหรับในช่วงเวลาระหว่างการแข่งขัน  จะไม่สามารถทำการฝึกซ้อมได้   ซึ่งการฝึกซ้อมนอกเหนือจากที่กล่าวมาอาจจะขยายออกไปได้โดยการอนุญาตของผู้ชี้ขาด

21.5  ระหว่างการยุติการเล่นฉุกเฉิน  ผู้ชี้ขาดจะอนุญาตให้ผู้เล่นทำการซ้อมบนโต๊ะแข่งขันนั้น   รวมไปถึงโต๊ะแข่งขันอื่น ๆ  ได้

21.6  ผู้เล่นจะได้รับอนุญาตอย่างมีเหตุผลที่จะตรวจสอบอุปกรณ์ที่เปลี่ยนใหม่อันเกิดจากการชำรุด  เช่น  ไม้เทเบิลเทนนิส  หรือลูกเทเบิลเทนนิสที่ชำรุด   แต่ก็จะไม่มากไปกว่าการฝึกตีโต้ 2-3  ครั้ง  ก่อนการเล่นใหม่

21.7   การแข่งขันจะต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง   ยกเว้นเวลาหยุดพักที่ได้รับอนุญาต

21.8  ผู้เล่นสามารถหยุดพักได้ไม่เกิน  1  นาที  ในระหว่างจบการแข่งขัน

21.9  ในระหว่างการแข่งขัน   ผู้ตัดสินจะอนุญาตให้หยุดเพื่อทำการเช็ดเหงื่อได้ในช่วงเวลาอันสั้น ๆ  เมื่อครบทุก ๆ  6 คะแนนเท่านั้น  และเมื่อขณะเปลี่ยนแดนกันในเกมสุดท้าย

21.10 ผู้เล่นหรือคู่เล่นสามารถขอเวลานอกได้แมทช์ละ 1 ครั้งไม่เกิน   1 นาที

21.10.1  ประเภทบุคคล  ผู้เล่นหรือคู่เล่น  หรือผู้ฝึกสอนที่ถูกกำหนดไว้เป็นผู้ขอเวลานอก ประเภททีม ผู้เล่นหรือคู่เล่นหรือหัวหน้าทีมเป็นผู้ขอเวลานอก

21.10.2  การขอเวลานอก  จะขอได้ขณะที่ลูกไม่อยู่ในระหว่างการเล่น   โดยผู้ขอใช้มือทำสัญลักษณ์เป็นรูปตัว “ที”

21.10.3  ผู้ตัดสินจะหยุดการแข่งขัน  โดยชูใบขาวเหนือศีรษะแล้ววางไว้บนโต๊ะ  ในแดนของผู้เล่นหรือคู่เล่นที่ขอเวลานอก

21.10.4  ผู้ขอเวลานอก  เป็นผู้ใช้สิทธิ์ในระยะเวลาตามที่กำหนดไว้

21.10.5 ถ้าผู้เล่นหรือคู่เล่น   และผู้ฝึกสอนที่ถูกกำหนดไว้หรือหัวหน้าทีมไม่สามารถตกลงกันได้ในการขอเวลานอกอำนาจในการตัดสินใจครั้งสุดท้ายให้ถือดังนี้   ในประเภทบุคคลโดยผู้เล่นหรือคู่เล่น   ในประเภททีมโดยหัวหน้าทีม

21.10.6  ถ้าการขอเวลานอกได้กระทำขึ้นพร้อมกันโดยผู้เล่นหรือคู่เล่นทั้งสองฝ่าย  เมื่อครบกำหนดการขอเวลานอก 1 นาที หรือทั้งสองฝ่ายพร้อมที่จะเล่นต่อ  การเล่นจะดำเนินต่อไป  และผู้เล่นหรือคู่เล่นทั้งสองฝ่ายจะไม่สามารถใช้สิทธิ์ในการขอเวลานอกได้อีกระหว่างการแข่งขันประเภทแมทช์ประเภทบุคคลนั้น ๆ

21.10.7 ผู้ชี้ขาดอาจจะอนุญาตให้ยุติการเล่นชั่วคราวในช่วงเวลาอันสั้นที่สุด  ซึ่งจะไม่เกิน  10  นาที  ถ้าผู้เล่นไม่สามารถเล่นได้   เนื่องจากอุบัติเหตุ  โดยมีเงื่อนไขว่าในความเห็นของผู้ชี้ขาดการยุติการเล่นชั่วคราวนั้นไม่น่าจะทำให้ผู้เล่นหรือคู่เล่นฝ่ายตรงกันข้ามเสียเปรียบเกินควร

21.10.8 การยุติการเล่นชั่วคราว  จะไม่อนุญาตสำหรับความไม่พร้อมของร่างกายที่จะเกิดขึ้นในขณะแข่งขัน  หรือคาดว่าจะเกิดก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้น   เช่น  ความอ่อนเพลีย  ตะคริว  หรือความไม่สมบูรณ์ของผู้เล่นเหล่านี้จะไม่อนุญาตให้เป็นการยุติการเล่นฉุกเฉินการยุติการเล่นฉุกเฉินจะยุติในกรณีที่เกิดจากอุบัติเหตุเท่านั้น  เช่น การบาดเจ็บเนื่องจากหกล้ม

21.10.9 ถ้าบุคคลใดบุคคลหนึ่งในบริเวณพื้นที่แข่งขันมีเลือดออก  การเล่นจะยุติและการลงแข่งขันจะไม่ดำเนินต่อจนกว่าบุคคลนั้นจะได้รับปฐมพยาบาล  และทำความสะอาดเลือดออกจากพื้นที่การแข่งขันแล้ว

21.10.10 ผู้เล่นจะต้องอยู่ในพื้นที่การแข่งขันหรือใกล้พื้นที่การแข่งขันตลอดการแข่งขันนั้น   โดยการหยุดพักระหว่างเกมและการขอเวลานอก  ผู้เล่นจะต้องอยู่ในระยะไม่เกิน 3 เมตร  ของพื้นที่การแข่งขันภายใต้การควบคุมของผู้ตัดสิน   การออกนอกระยะดังกล่าวสามารถทำได้โดยต้องได้รับอนุญาตจากผู้ชี้ขาด

20.  การแนะนำผู้เล่นหรือการสอนผู้เล่น (ADVICE  TO  PLAERS)

            22.1  ในการแข่งขันประเภททีม  ผู้เล่นจะได้รับคำแนะนำหรือการสอนจากใครก็ได้  แต่ในการแข่งขันประเภทบุคคล  ผู้เล่นหรือคู่เล่นจะได้รับการสอนจากบุคคลในบุคคลหนึ่งเท่านั้น  ซึ่งจะต้องแจ้งให้ผู้ตัดสินสินทราบก่อนการแข่งขัน  ยกเว้นระดับนานาชาติในประเภทคู่   หากผู้เล่นมาจากคนละประเทศให้ผู้เล่นในขณะแข่งขัน  ผู้ตัดสินจะใช้ใบเหลืองแสดงเตือนบุคคลนั้น  ไม่ให้กระทำเช่นนี้อีก  และแจ้งให้ทราบว่าในครั้งต่อไปจะให้ออกจากบริเวณพื้นที่แข่งขัน

22.3  หลังจากผู้ตัดสินได้เตือนแล้ว  หากมีบุคคลในทีมหรือบุคคลอื่นที่ทำการอย่างผิดกติกาอีก   ผู้ตัดสินจะใช้ใบแดงแสดงให้ออกจากพื้นที่การแข่งขันไม่ว่าเขาจะเป็นผู้ถูกเตือนมาก่อนหน้านั้นหรือไม่ก็ตาม

22.4  ในการแข่งขันประเภททีม  ผู้สอนที่ถูกให้ออกจากพื้นที่แข่งขันจะไม่สามารถกลับเข้ามาได้อีก   และไม่สามารถเปลี่ยนผู้สอนคนอื่นแทนได้  จนกระทั่งจบการแข่งขันประเภททีม  ยกเว้นเขาผู้นั้นต้องลงทำการแข่งขัน  สำหรับประกอบบุคคล  ผู้สอนไม่สามารถกลับเข้ามาอีกจนกระทั่งจบการแข่งขันแมทช์นั้น

22.5  ถ้าผู้สอนปฏิเสธที่จะออกจากพื้นที่การแข่งขัน หรือหลับเข้ามาในพื้นที่การแข่งขันก่อนที่การแข่งขันจะเสร็จสิ้น  ผู้ตัดสินจะยุติการเล่นและรายงานต่อผู้ชี้ขาดทันที

23. ความประพฤติ  (BEHAVIOUR)

            23.1  ผู้เล่นและผู้ฝึกสอน  จะต้องไม่ทำกิริยาหรือความประพฤติที่ไม่ดีอันจะมีผลต่อฝ่ายตรงกันข้าม  หรือผู้ชม หรือทำให้เกมการแข่งขันเกิดความเสื่อมเสีย  ความประพฤติดังกล่าว  เช่น จงใจ ทำให้ลูกแตก  เคาะโต๊ะด้วยไม้เทเบิลเทนนิส  เตะโต๊ะเทเบิลเทนนิสหรือผังกั้นลูก  พูดคำหยาบหรือจงใจตะโกนด้วยเสียงอันดังเกินควรแกล้งตีลูกเทเบิลเทนนิสให้ออกจากพื้นที่การแข่งขัน  หรือการไม่เคารพเชื่อฟังผู้ตัดสินและเจ้าหน้าที่

23.2  เมื่อผู้ตัดสินได้พิจารณาแล้วเห็นว่าผู้เล่นหรือผู้ฝึกสอนทำความประพฤติไม่ดีอย่างร้ายแรง  จะยุติการเล่นทันที  และรายงานต่อผู้ขี้ขาด   แต่หากไม่ร้ายแรง  ผู้ตัดสินจะให้ใบเหลือง  และเตือนถึงการลงโทษหากยังกระทำอยู่อีก

23.3  หลังจากที่ได้รับการเตือนแล้ว  ถ้าผู้เล่นยังกระทำลักษณะดังกล่าวหรือลักษณะอื่น ๆ  เป็นครั้งที่ 2  ในแมทช์เดียวกันกับประเภทบุคคล  หรือแมทช์เดียวกันกับประเภททีม  ผู้ตัดสินจะให้ 1  คะแนน   แก่ฝ่ายตรงกันข้าม  หลังจากนั้น  หากยังกระทำอยู่อีกผู้ตัดสินจะให้คะแนน  2 คะแนน  แก่ฝ่ายตรงข้าม  ซึ่งในการให้คะแนนแต่ละครั้งผู้ตัดสินจะใช้ใบเหลืองและใบแดงชูขึ้นพร้อมกัน  ทั้งนี้ยกเว้นกรณีข้อ  23.2 และข้อ 23.5

23.4  ถ้าผู้เล่นได้ถูกลงโทษในเรื่องเกี่ยวกับความประพฤติ  โดยให้คะแนนแก่ฝ่ายตรงกันข้าม  2 ครั้งแล้ว  (3   คะแนน)   แต่ยังกระทำอยู่อีก   ผู้ตัดสินจะยุติการเล่น  และรายงานต่อผู้ชี้ขาดทันที

23.5  ถ้าพบว่าผู้เล่นได้เปลี่ยนไม้เทเบิลเทนนิสของเขาในระหว่างการเล่นโดยไม่แจ้งทราบให้ผู้ตัดสินจะยุติการเล่นทันทีและรายงานผู้ชี้ขาดทันที

23.6  การเตือนหรือลงโทษตัดคะแนนในประเภทคู่ให้หมายรวมถึงทั้ง  2 คนด้วย สำหรับในประเภททีมในแมทช์เดียวกันนั้น  เมื่อเริ่มการแข่งขันประเภทคู่  หากมีการถูกเตือนหรือลงโทษตัดคะแนนมาก่อนหน้านั้น  จะถือผลของการเตือนหรือลงโทษตัดคะแนนอันที่สูงที่สุดของผู้ที่กระทำผิดในคู่นั้น   เว้นแต่หากผู้เล่นในประเภทคู่นั้นไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด  จะไม่มีผลเมื่อลงทำการแข่งขันในลำดับถัดไปในทีมแมทช์เดียวกัน

23.7  หลังจากผู้แนะนำหรือผู้สอนได้รับการเตือนแล้วแต่ยังกระทำอยู่อีก   ผู้ตัดสินจะให้เขาออกจากพื้นที่โดยใช้ใบแดง  ซึ่งเขาจะกลับมาไม่ได้จนกว่าการแข่งขันในประเภททีมนั้นได้เสร็จสิ้นลง  หรือจบการแข่งขันในประเภทบุคคล  ทั้งนี้ยกเว้นกรณีข้อ 23.2

23.8  ผู้ชี้ขาดอาจจะใช้มาตรการทางวินัยแก่ผู้เล่นภายใต้ดุลยพินิจของเขา  สำหรับความประพฤติที่ไม่สมควรก้าวร้าว  ฯลฯ  โดยอาจจะให้ผู้เล่นออกจากแมทช์ในประเภทนั้น ๆ  หรือการแข่งขันทั้งหมด  โดยการใช้ใบแดง  แม้ว่าผู้ตัดสินจะรายงานให้ทราบหรือไม่ก็ตาม

23.9  ถ้าผู้เล่นถูกปรับให้แพ้  2 แมทช์  ในการแข่งขันประเภททีม  หรือในประเภทบุคคล  ผู้เล่นจะถูกให้ออกจากการแข่งขันในประเภททีม  หรือประเภทบุคคล  ของรายการแข่งขัน  โดยอัตโนมัติ

23.10  ผู้ชี้ขาดอาจลงโทษบุคคลใดบุคคลหนึ่งไม่ให้เข้าร่วมการแข่งขันในรายการที่เหลืออยู่ถ้าบุคคลนั้นได้ถูกลงโทษให้ออกนอกพื้นที่แข่งขันถึง  2  ครั้ง

23.11 ถ้าเกิดกรณีปฏิบัติผิดอย่างร้ายแรง  ให้รายงานเป็นบันทึกให้สมาคมต้นสังกัดของผู้ทำผิดนั้นทราบ

24.  การแข่งขันประเภททีม (TEAM  EVENT)

            24.1  ในการแข่งขันประเภททีมจะทำการแข่งขันแบบ  BEST   OF  5  MATCHES (5  SINGLES)  หรือ   BEST  OF  5  MATCHES  SIGLES  AND  1  DOUBLES) ซึ่งจะต้องระบุลงในระเบียบการแข่งขันนั้น  ๆ

24.2  การแข่งขันแบบ  BEST  OF MATCHES (5  SINGLES) จะต้องประกอบด้วยผู้เล่น  3 คน  ลำดับการแข่งขัน  มีดังนี้  คู่ที่ 1  A-X   คู่ที่   2  B-Y  คู่ที่  3  C-Z  คู่ที่  4  A-Y  คู่ที่  5  B-X

24.3  การแข่งขันแบบ  BEST   OF  5  MATCHES (4  SINGLES)  AND  1 DOUBLES) จะประกอบด้วยผู้เล่น  2-3 หรือ  4  คน ลำดับการแข่งขัน  มีดังนี้ คู่ที่ 1  A-X  คู่ที่ 2  B-Y  คู่ที่ 3  ประเภทคู่  คู่ที่ 4  A-Y  คู่ที่ 5  B-X

24.4  ก่อนการแข่งขัน  หัวหน้าทีมจะต้องมาจับฉลากเสี่ยงทายว่าทีมใดจะได้ทีม  A B C หรือ  X   Y   Z  โดยนักกีฬาที่จะทำการแข่งขัน   จะต้องมีรายชื่ออยู่ในทีม

24.5  กรณีที่มีการแข่งขันประเภทคู่  สามารถส่งรายชื่อได้  หลังจากแข่งขันประเภทเดี่ยวคู่ก่อนหน้านั้นเสร็จแล้ว

24.6  การแข่งขันจะถือผลชนะ   เมื่อทีมใดชนะในการแข่งขันบุคคลมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนคู่ทั้งหมด

24.7  เมื่อจบการแข่งขันในแต่ละคู่   ผู้เล่นจะสามารถหยุกกพักได้ไม่เกิน  5  นาที

25.  การแข่งขันแบบแพ้คัดลอก  (KNOCK-OUT  COMPETITIONS)

            25.1  จำนวนตำแหน่งของระบบการแข่งขันแพ้คัดลอกจะต้องมีจำนวนเป็นทวีคูณกำลัง  2เช่น  2, 4, 8, 16, 32  เป็นต้น

25.2   ถ้าจำนวนผู้เล่นมีน้อยกว่าตำแหน่ง ให้ใส่  ชนะผ่าน  (BYE)  เพิ่มเข้าไปในรอบแรก

25.3   ถ้าจำนวนผู้เล่นมีมากกว่าตำแหน่ง  ให้ใช้รอบคัดเลือก  (QUALFIERS)

25.4   การชนะผ่าน  (BYE)   หรือการคัดเลือก  (QUALFIERS)  จะต้องกระจายอยู่อย่างสม่ำเสมอ  โดยการชนะผ่าน (BYE)  จะต้องอยู่กับมือวางเป็นอันดับแรก

25.5  การวางมืออันดับ

25.5.1  ผู้เล่นที่มีฝีมือดีตามอันดับจะต้องถูกวางตัวเพื่อไม่ให้ต้องพบกันก่อนที่จะถึงรอบสุดท้ายของการแข่งขัน

25.5.2  ผู้เล่นมีมาจากสโมสรเดียวกันจะถูกจับแยกกันให้ห่างที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้  เพื่อไม่ให้ต้องพบกันก่อนที่จะถึงรอบสุดท้ายของการแข่งขัน

25.5.3  ผู้เล่นมือวางอันดับ  1  จะถูกจัดให้อยู่บนสุดผู้เล่นมือวางอันดับ 2  ถูกจัดให้อยู่ล่างสุด  ผู้เล่นมือวางอันดับ  3-4  จะจับฉลากระหว่างผู้เล่นมือ   1  2

25.5.4  ผู้เล่นมือวางอันดับ 5-6

25.5.5  ผู้เล่นมือวางอันดับ  9-16  จะจับฉลากอยู่ระหว่างผู้เล่นตามข้อ  25.5.4

26.  นักกีฬามือวางหรือทีมวาง (SEEDING)

            ในการแข่งขันภายในประเทศให้เป็นไปตามประกาศของสมาคม ฯ

27. กำหนดการแข่งขัน  (SCHEDULING)

            27.1   ในการแข่งขันระดับภายในประเทศ  ผู้จะต้องทำการแข่งขันตามเวลาที่กำหนด  หากเลยเวลาแข่งขันให้ปรับเป็นแพ้  โดยผู้ชี้ขาด  ดังนี้

27.1.1  ประเภทบุคคลให้เวลา  5  นาที  นับจากกำหนดเวลาแข่งขัน  หรือหากเลยกำหนดเวลาแข่งขันแล้ว   นับจากที่เรียกลงทำการแข่งขัน

27.1.2  ประเภททีมให้เวลา  15   นาที  นับจากกำหนดเวลาแข่งขัน  หรือหากเลยเวลาแข่งขันแล้ว   นับจากเวลาที่เรียกมาจับฉลาก   โดยในการแข่งขันระบบ BEST  OF 5   MATCHES  (4   SINGLES  AND   DOUBLES)   จะต้องมีผู้เล่นอย่างน้อย   2  คน และในการแข่งขันระบบ  BEST  OF 5   MATCHES  (5   SINGLES)  จะต้องมีผู้เล่นอย่างน้อย  3  คน

27.2  เวลาที่ระบุไว้ตามข้อ  27.1.1  27.1.2   นี้อาจจะอนุญาตขยายออกไปได้โดยผู้ชี้ขาด

28.  การคิดคะแนนในการแข่งขันแบบพบกันหมด (GROUP  COMPITITIONS)

            28.1  ในการแข่งขันแบบพบกันหมด  ผู้เล่นหรือทีมภายในกลุ่มนั้นต้องแข่งขันพบกันทุกคนหรือทุกทีม  โดยผู้ชนะจะได้  2  คะแนน    ผู้แพ้จะได้  1 คะแนน และผู้ที่ไม่แข่งขันหรือแข่งขันไม่เสร็จสิ้นจะได้   0  คะแนน   และการจัดอันดับจะดูผลจากคะแนนแมทช์นี้เป็นอันดับแรก

28.2  ถ้าผู้เล่น/ ทีม  มีคะแนนแมทช์เท่ากันตั้งแต่  2 คน/ทีมขึ้นไป  การจัดอันดับให้ผลการแข่งขันเฉพาะคน/ทีม    ที่มีคะแนนแมทช์เท่ากันเท่านั้น   โดยใช้ผลแพ้ชนะของบุคคล  (สำหรับประเภททีม)   เกมหรือคะแนนตามลำดับจนกว่าจะได้ข้อยุติ   ซึ่งวิธีการคิดคะแนนในแต่ละขั้นตอน  ให้ใช้คะแนนได้หารด้วยคะแนนเสีย

28.3  ในการคิดคะแนนตามขั้นตอนหากมีหนึ่งหรือมากกว่าหนึ่งในกลุ่มนั้น  แสดงผลต่างขณะที่ส่วนอื่น ๆ  ยังมีคะแนนเท่ากันอยู่ผลการแข่งขันของผู้ที่เท่ากันนั้นจะถูกคำนวณย่อยต่อไปตามลำดับ   คือ  ผลบุคคล  (สำหรับประเภททีม)   จำนวนเกม  คะแนนในเกม

28.4  หากคิดคะแนนตามข้อ  28.1 28.2  และ  28.3   แล้วยังมีคะแนนเท่ากันอีกให้ใช้วิธีจับฉลาก

 

 

ที่มา

http://gg.gg/6zf79